วันอาทิตย์, พฤษภาคม 19, 2024
spot_img
หน้าแรกรายงานพิเศษ#JustHome จากแม่น้ำสู่ทะเล

#JustHome จากแม่น้ำสู่ทะเล


         “พวกเขากลับมาหาพ่อแม่ กลับมาบ้านไม่ได้อีกแล้ว เรารู้อยู่แล้วว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเป็นชาวสวรรค์ แล้วเราจะตกขบวนกับพวกเขาได้ยังไง เราจะนิ่งเฉย ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์คนนึง เราไม่ได้มาในนามมุสลิม เรามาในนามมนุษยชาติ เราไม่ได้คิดสอนลูกให้รักชาติ รักเผ่าพันธุ์มากกว่ารักมนุษยชาติ ธงนี้ไม่ใช่แค่ธงประเทศปาเลสไตน์ แต่มันคือธงแห่งมนุษยชาติ และเป็นวันที่จดบันทึกว่าผมมีธงเป็นของตัวเองแล้ว เป็นธงไปถึงกิยามัตของผม ผมจะภูมิใจในธงนี้ไปตลอดกาล” เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา หนึ่งในผู้จัดกิจกรรม #JustHome บอกกล่าว



 “เรามารวมตัวแสดงความห่วงใย ร่วมภาวนา ร่วมลงเดิน ปั่น ขับเคลื่อนพาหนะอย่างสันติวิธี เพื่อเป็นอีกหนึ่งพลังในการกดดันให้หยุดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำลายชีวิต บ้านเรือน หยุดรุกราน อันเป็นที่มาของความขัดแย้ง ปลดปล่อยแผ่นดินอันเป็นที่รัก และแสดงความรู้สึกมนุษยธรรมขั้นพื้นฐานด้วยกัน ณ เวลานี้ ทุกคนมีความกังวล เสียใจ ในการสูญเสีย ต่อเหตุการณ์อันน่าหดหู่ตกใจ และแปลกใจในการนิ่งเฉยของประชาคมโลก ต่อพลเมืองบ้านเรือนปาเลสไตน์ ร่วมแสดงออก ประชาสัมพันธ์ให้สังคม ชุมชน ตระหนัก ช่วยกันภาวนา คาดหวังความสงบ เป็นอิสระ และขอให้ได้กลับมายังบ้านเกิดอีกครั้งของบรรดานกน้อยเจ้าของรังที่แท้จริง”

          คือเหตุผลที่พี่น้องมุสลิมในปัตตานี ยะลา นราธิวาส หลายร้อยคนคน รวมตัวกันตั้งขบวนปั่นจักรยาน ขับขี่จักรยานยนต์และรถยนต์ พร้อมถือธงชาติประเทศปาเลสไตน์ ร่วมขบวนเดินทางเพื่อปาเลสไตน์ โดยเริ่มจากหน้าตลาดเมืองใหม่ จ.ยะลา สู่ลานศิลปวัฒนธรรม อ.เมือง จ.ปัตตานี ในระยะทาง 42 กม. เท่ากับระยะทางจากกาซ่าสู่ด่านชายแดนราฟาห์ที่ชาวปาเลสไตน์ถูกสั่งอพยพ

คำแถลงการณ์จากแกนนำมีใจความว่า นับตั้งแต่การพยายามสถาปนารัฐอิสราเอลในแผ่นดินปาเลสไตน์อย่างลักลั่นในปีค.ศ.1948  อันสืบเนื่องมาจากคำประกาศมันโซร์ในปีค.ศ. 1926 โดยรัฐบาลอังกฤษ รัฐอิสราเอลได้มีความพยายามดำเนินการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ดั้งเดิม ให้ย้ายถิ่นฐานออกจากบ้านเกิดเมืองนอนอย่างไม่เป็นธรรม ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งอาหรับ-อิสราเอล ต่อเนื่องมาอีกหลายทศวรรษ สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สินต่อชาวปาเลสไตน์และอิสราเอล ส่งผลสั่นคลอนเสถียรภาพของอีกหลายประเทศทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลางและภาคอื่นๆสงครามและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยืดเยื้อ เกิดการตอบโต้จากทั้งสองฝ่าย สร้างความเสียหายที่ยากแก่การประเมินว่าสอดคล้องกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศหรือไม่ ในฐานะผู้จัดกิจกรรมขอแสดงจุดยืนเรียกร้องต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์สงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซ่าดังนี้

1.อิสราเอลต้องปฏิบัติตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2566 การหยุดยิงชั่วคราวอย่างไม่มีเงื่อนไขโดยทันที

2.อิสราเอลต้องเปิดทางให้การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ต่อพลเรือนในกาซ่าเป็นลำดับความสำคัญแรกสุด ทั้งให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบสหประชาชาติภายใต้การสอบสวนข้อเท็จจริงต่อปฏิบัติการทางทหารทุกเหตุการณ์ที่สร้างความสูญเสียต่อพลเรือนทุกเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. เป็นต้นมา และการสู้รบกับทุกฝ่ายต้องอยู่ภายใต้และการรับผิดชอบต่อกรอบกติกาสากลที่ให้ความคุ้มครองต่อพลเรือนในภาวะสงครามอันครอบคลุมถึงกฎหมายมนุษยชนระหว่างประเทศ กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และกฏหมายผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ

3.ปฏิบัติการของอิสราเอลต่อกาซ่าทั้งทางอากาศและทางพื้นดินซึ่งสร้างความเสียหายต่อพลเรือนอย่างกว้างขวางอย่างที่ยอมรับไม่ได้ด้วยหลักการใดๆ ทั้งสิ้น ประชาคมโลกต้องกดดันอย่างจริงจังในการดำเนินข้อหาอาชญากรรมสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อรัฐบาลอิสราเอล โดยที่การอ้างสิทธิในการปกป้องตนเองของอิสราเอลนั้นเป็นการตีความเกิดขอบเขตที่เข้าข้างตนเองมากจนเกินไป

4.ทุกฝ่ายที่ไม่ใช่คู่รบโดยตรงจะต้องหยุดเติมเชื้อไฟแห่งสงครามอันสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้สงครามลุกลามขยายตัวสหรัฐอเมริกาต้องถอนกองกำลังทางทหารออกไปจนอยู่ในกำลังเท่ากับก่อนวันที่ 7 ต.ค.2566

5.องค์การความร่วมมืออิสลามและชาติอาหรับ ต้องยกระดับไปสู่มาตรการการใช้การกดดันที่เข้มแข็งกว่านี้ในการให้อิสราเอลหยุดยิง เข้าสู่กระบวนการพูดคุยเพื่อจัดการความขัดแย้งเช่น มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ มาตราการตัดความสัมพันธ์ทางการทูต  เป็นต้น รวมทั้งต้องมีบทบาทเชิงรุกที่เป็นเอกภาพในการสร้างสภาพแวดล้อมในการเอื้อต่อการใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหาอย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริง 

พื้นที่โฆษณา

RELATED ARTICLES

Most Popular

Recent Comments