วันอาทิตย์, พฤษภาคม 19, 2024
spot_img
หน้าแรกท่องเที่ยว/เศรษฐกิจ“แบแปปะกาฮะรัง” สร้างรายได้แก่ชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต.

“แบแปปะกาฮะรัง” สร้างรายได้แก่ชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต.

นักวิชาการ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ลงพื้นที่ ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ขับเคลื่อนกลุ่มผู้ประกอบการ “แบแปปะกาฮะรัง” (ข้าวพองปะกาฮะรัง) หนึ่งในโครงการกินอยู่ ดูดีมีอาชีพ โดยนำผลิตผลข้าวเจ้าพันธุ์ซีบูกันตังในพื้นที่ที่ชาวบ้านปลูกเอง มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวพองประกาฮะรัง สร้างรายได้แก่ชุมชนและแก้ปัญหาข้าวตกค้างเป็นปีหรือจำหน่ายและบริโภคไม่ทัน เกิดรายได้ที่ยั่งยืน เน้นให้คนในชุมชนคิดและลงมือทำด้วยตัวเอง โดยมีนักวิชาการแนะนำ ร่วมแก้ไข ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่ม จำนวน 9 คน

ผศ.ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า ก่อนจะมาเป็นกลุ่มวิสาหกิจ ทีมนักวิชาการ ได้เปิดเวทีพูดคุยกับกลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้ทั้ง 60 คน ถึงปัญหา ศักยภาพที่อยากจะเรียนรู้ ชาวบ้านกลุ่มนี้สนใจแปรรูปสินค้าการเกษตรของตนเองว่ามีแนวทางไหนที่จะทําให้ข้าวเจ้าพันธุ์ซีบูกันตังที่ปลูกเอง มีราคาเพิ่มขึ้นกว่าจำหน่ายข้าวสารในชุมชน นํามาสู่แนวคิดเรื่องข้าวพอง ซึ่งเป็นแนวคิดแรกที่เกิดขึ้นจากโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (University to Tambon: U2T) แต่ไม่สามารถทําได้ต่อเนื่อง เมื่อมีโครงการนี้ ชาวบ้านมีแนวคิดนำมาต่อยอดใหม่

Lทีมนักวิชาการ ได้นำชาวบ้านไปศึกษาดูงานแหล่งผลิตข้าวพอง ที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี แล้วมาวิเคราะห์ร่วมกัน มีสูตรข้าวพองที่ลงตัว ได้รับการสนับสนุนงบประมาณคนละ 2500 บาท การบริหารจัดการระบบกลุ่ม อุปกรณ์ การดูแลรักษา กลุ่มค่อนข้างจะสนิทกัน ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข ปัจจุบัน ได้ยื่นจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ 6 ก.พ.67 ในนาม “วิสาหกิจชุมชนแบแปปะกาฮะรัง” โดยการขับเคลื่อนการประสานงานของคนรุ่นใหม่ที่เป็นศิษย์เก่าของ ม.อ. ปัตตานี หาช่องทางและดูแลเรื่องเอกสารและทำงานเพื่อชุมชน

ผศ.จารียา อรรถอนุชิต นักวิชาการโครงการฯ เปิดใจว่า เป็นหนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิกกลุ่มนี้ ถือเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งที่นักพัฒนาอยากเห็นสิ่งที่ชุมชนตั้งใจทำและเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เห็นความโดดเด่นของข้าว เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน ชาวบ้านที่นี่ปลูกข้าวพันธุ์ซีบูกันตังบริโภคและจำหน่ายเอง ซึ่งกว่าจะบริโภคหมดใช้เวลาเป็นปี ปัญหาที่ตามมาคือข้าวจะเก่าทำให้ไม่อร่อย ขายไม่ได้ราคา จึงเกิดแนวคิดต่อยอดผลิตผลในชุมชนมาเป็นข้าวพอง

“เป็นการบูรณาการความภูมิปัญญาพื้นบ้าน ข้าวพอง หรือแบแป เป็นขนมพื้นถิ่นโบราณที่กําลังจะหายไปจากจากชายแดนภาคใต้ กลุ่มจึงเกิดแนวคิดให้มีแตกต่างจากข้างพองทั่วไป ด้วยสูตรดูแลสุขภาพใช้วัตถุดิบธัญพืช เน้นหวานน้อย นำโครงการ U2T มาต่อยอด รับซื้อข้าวของชาวบ้านมาผลิตเป็นข้าวพองในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้กับชาวบ้านในกลุ่มด้วย”

“แบแปปะกาฮะรัง” (ข้าวพองปะกาฮะรัง) เพิ่งรวมตัว 2 เดือนกว่าๆ แต่เติบโตได้เร็วมาก ชื่นชมชาวบ้านที่เห็นความสำคัญจากทีมนักวิชาการ กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ เป็นแบบอย่างที่ดีในการขับเคลื่อนชุมชน สนุกและมีพลัง เห็นศักยภาพทํางานของชุมชน นักวิชาการทุกคนได้รับพลังจากชาวบ้านกลับไป คือคุณค่าของการลงพื้นที่ทุกครั้ง เราคาดหวังเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและยั่งยืนแก่ชุมชน สามารถจัดการปัญหาภายในชุมชนได้ด้วยตนเอง เป็นผู้ส่งต่อองค์ความรู้ให้กลุ่มอื่น ๆ ได้ แม้วันหนึ่งจะไม่มีทีมนักวิชาการ”

ด้านนางสาวมีเน๊าะ ตาแบะ สมาชิกกลุ่มฯ บอกว่า เข้าร่วมกลุ่มตั้งแต่เริ่ม ขอขอบคุณทีมนักวิชาการ ที่มาคลุกคลีกับชาวบ้าน สอนและลงมือทำไปด้วยกัน ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่า ปกติกลุ่มแม่บ้านจะปลูกข้าวอย่างเดียว ไม่มีอาชีพและรายได้เสริม

“ถ้าไม่ได้ปลูกข้าวก็อยู่เฉยๆ มีกลุ่มเกิดขึ้น รายได้ก็เพิ่มขึ้นจากเดิม รับซื้อข้าวที่ตากแดดเพื่อผลิตเป็นข้าวพองจากชาวบ้านได้ด้วย รู้สึกชีวิตดีขึ้นมาก ทำให้กลุ่มปะกาฮะรัง มีสินค้าโอทอปเป็นของตนเอง ทีมนักวิชาการยังให้แนวคิดและความรู้เรื่องการขาย ฝึกขายบนโซเชียและขายตามสถานที่ต่างๆ ในชุมชน ผลตอบรับจากลูกค้าบอกว่า ข้าวพองมีรสชาติอร่อย ไม่เคยกินสูตรธัญพืชแบบนี้มาก่อน คิดว่าถ้าเรามีโรงเรือนเกิดขึ้น น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะขยายฐานการผลิต จะได้ชวนเพื่อน ๆ ในชุมชนมาร่วมกัน ถือเป็นการเพิ่มจำนวนสมาชิกในกลุ่มให้มากขึ้นด้วย”

พื้นที่โฆษณา

RELATED ARTICLES

Most Popular

Recent Comments